เรื่องเล่าผ่านกาลเวลา ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของศาลตี่จู้เอี๊ยะในยุคต่างๆ

ถู่ตี้กง (“เจ้าแห่งผืนดิน”) หรือคนไทยเชื้อสายจีนจะเรียกท่านว่าตี่จู้เอี๊ยะ แรกเริ่มจะเกิดมาจากศาลบูชาฮกเต็กในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง (ตามตำนานกำเนิดตี่จู้เอี๊ยะ) ซึ่งศาลบูชาฮกเต็กแห่งนี้นำพาโชคลาภและดลบันดาลพรให้ที่ผู้มาขอพรนั้นประสบความสำเร็จกันอย่างมากมาย

ศาลบูชาฮกเต็กได้รับการนับถือมากจากฮ่องเต้พระองค์หนึ่ง (บางตำนานจะเป็นพระเจ้าโจวอู่อ๋อง) จนถึงขั้นได้อวยยศสถาปนาเป็นเทพและประทานนามใหม่ให้เป็น “ถู่ตี้กง หรือเทพโหวโท่ว” อันแปลว่าเทพเจ้าแห่งผืนดิน ชาวจีนทั้งหลายจึงบูชาท่านเป็นเทพเจ้านับแต่นั้น

จากหมู่บ้านธรรมดากลายเป็นหมู่บ้านที่มีแต่เศรษฐีขุนนาง การเพาะปลูกก็งอกงามเก็บเกี่ยวได้อย่างมากมาย เป็นเมืองเศรษกิจการค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกแคว้น หมู่บ้านต่างๆ จึงเกิดแนวคิดของการจำลองเอาศาลถู่ตี้กงมาตั้งที่หมู่บ้านของตนเอง ซึ่งก็จะมีวัฒนธรรมที่คล้ายกันกับไทย ที่เหล่าเชื้อพระวงศ์จะสร้างวัด ส่วนเศรษฐีขุนนางก็จะสร้างศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ มาตั้งไว้ในหมู่บ้านให้ทุกๆคนมากราบไหว้บูชากัน

เกร็ดความรู้
ตำแหน่งฮ่องเต้นั้นได้รับการเคารพในฐานะโอรสแห่งสวรรค์ (เทียนจื่อ 天子 หรือเทพที่ยังทรงพระชนม์ชีพ) เปรียบเสมือนได้รับอำนาจจากสวรรค์มาให้ปกครองประชาชนทั้งใต้หล้า สามารถแต่งตั้งหรือสถาปนาบุคคลที่สมควรรับการเคารพให้เป็นเทพได้ ตัวอย่างการสถาปนายกย่องให้เป็นเทพก็จะมีหลายท่าน เช่น เทพฮกลกซิ่ว, เทพกวนอู หรือเทพนักปราชญ์ขงจื๊อ เป็นต้น

เทพเจ้าที่มีอยู่หลายองค์ แต่ละองค์ก็จะมียศและอำนาจในการดูแลพื้นที่แตกต่างกันไป

เทพถู่ตี้กง หรือตี่จู้เอี๊ยะ นั้นมีหลายองค์ จะแบ่งตามขนาดของพื้นที่ที่ท่านรับผิดชอบตามบัญชาขององค์ทีกง หรือเหง็กเซียนฮ่องเต้ สำหรับเตียวฮกเต็ก หรือบางพื้นที่จะเรียกท่านว่าเตียเม่งเต็กนั้น เรียกได้ว่าเป็นเจ้าที่องค์แรกที่ได้รับแต่งตั้ง ท่านจะคอยควบคุมและปกครองตี่จู้เอี๊ยะ ปุนเถ่ากง หรือเจ้าที่เจ้าทางในป่าเขาทั้งหมด ดังนั้นก่อนที่จะทำการบูชาตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะใหม่ จะต้องกางโต๊ะที่หน้าบ้านเพื่อบูชาเซ่นไหว้ฟ้าดินทีกงเป็นอย่างแรกเพื่อเป็นการให้เกียรติ และขอให้ท่านทีกงนั้นบัญชาแต่งตั้งเจ้าที่ของบ้านให้อย่างเป็นทางการ

เทพถู่ตี้กง หรือตี่จู้เอี๊ยะ ถือได้ว่าเป็นเทพที่ผนวก 3 โลกเข้าด้วยกัน คือสวรรค์ มนุษย์ และบาดาลผืนดิน การตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะไว้ให้ติดกับพื้นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านได้รับพลังจากผืนดินอย่างสูงสุด และถึงแม้ว้าท่านจะเป็นเทพที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่มากนัก แต่ก็มิอาจจะดูหมิ่นดูแคลนได้ เพราะขนาดเทพที่มีอำนาจสูงกว่าท่านแต่หากท่านไม่อนุญาตให้เข้ามาในบ้านก็จะไม่สามารถเข้ามาได้เลย ดังคำพูดที่ว่า “หากทำผิดต่อถู่ตี้กง ทำมาหากินอะไรก็ไม่เจริญ”

ภาพด้านบนนี้ เป็นภาพแสดงความเชื่อของการบูชาเทพถู่ตี้กงในมลฑลไทเป (ไต้หวัน) จะเป็นในแนวทางของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เฉิงฮวางเหยีย 城隍爺 ) และจะมีการตั้งบริวารเช่นทหาร องครักษณ์บู๊-บุ๋น ผู้พิพากษา และมีรูปปั้นเสือเป็นพาหนะของท่านรวมอยู่ด้วย จึงมีบางแห่งเรียกกันติดปากเป็นศาลเจ้าพ่อเสือก็มีเช่นกัน

แบบจำลองสถาปัตยกรรมในยุคเริ่มต้นของศาลบูชาฮกเต็ก

ภาพด้านบนนี้ เป็นภาพแสดงแบบจำลองลักษณะแท่นบูชาฮวงซุ้ยของท่านฮกเต็ก หลังจากนั้นฮ่องเต้ได้ยกให้เป็นชั้นเทพแล้วจึงได้สร้างศาลเจ้าให้ท่านใหม่เป็นศาลถู่ตี้กง ซึ่งลักษณะเหมือนทรงศาลเจ้าที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน

ส่วนการนำแท่นหิน 3-4 ก้อนมาวางต่อเป็นรูปทรงบ้านนั้น คือพิธีกรรมทางสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจะสร้างศาลชั่วคราวนี้เพื่อทำการขอพรให้ท่านเจ้าที่คุ้มครองให้มีพืชผลที่สมบูรณ์ และเป็นธรรมเนียมของนักเดินทางไกลไปต่างแดนที่ไปพักหลับนอนกลางป่าที่แห่งใดก็จะสร้างศาลชั่วคราวแบบนี้ไว้ขอบูชาท่านเจ้าที่ เพื่อให้ท่านคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและผีชั่ว

เกร็ดความรู้
ตามแต่ละพื้นที่ก็จะมีชื่อเรียกท่านเจ้าที่ที่ต่างกันไป เช่น ถู่ตี้กง, ถู่ตี้เย๋, ต้าบ๋อกง, ฮกเต็กเจี่ยสิน, ตี้เฉิน ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนจะนิยมเรียกกันว่า ตี่จู้เอี๊ยะ หรือเอี๊ยะกง ดังนั้นคนจีนในแต่ละประเทศจะเรียกชื่อท่านไม่เหมือนกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติครับ

ความเหมือนที่แตกต่างของ ตี่จู้เอี๊ยะ และ ปุนเถ้ากง

การบูชาตี่จู้เอี๊ยะและปุนเถ้ากงนั้นคล้ายกันมาก ในสมัยนี้แทบจะแยกกันไม่ออกเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้นเทพทั้งสองมีหน้าที่เหมือนกันคือเป็นเจ้าที่ แต่มีระดับชั้นที่แตกต่างกัน สรุปง่ายๆ สำหรับบ้านเรือนทั่วไปนั้น ตี่จู้เอี๊ยะ คือเจ้าที่อาวุโส ส่วนปุนเถ้ากงคือเจ้าที่ใหม่ผู้ช่วย ส่วนในชนชั้นสูง เช่น เชื้อพระวงศ์และขุนนางจะยกเอาปุนเถ้ากง หรือบรรพบุรุษตนเองเป็นเทพที่ระดับใหญ่กว่า

ในบางพื้นที่ที่ปุนเถ้ากงนั้นมาจากตระกูลขุนนางชั้นสูง เช่นเจ้าเมืองเจ้าแคว้น ก็จะยกย่องให้บรรบุรุษของตนมีความสำคัญมากกว่า นับถือกันในระดับของศาลหลักเมือง ซึ่งชาวบ้านในเมืองก็จะนับถือบูชาตามไปด้วย

ปุนเถ้ากงก็คือบรรพชนที่เป็นต้นตระกูลที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านและเสียชีวิตที่นั่น ลูกหลานจะทำศาลปุนเถ้ากงเพื่อกราบไหว้บูชาและนับถือเป็นเทพเทวดาหรือบางตระกูลก็จะยกให้ท่านเป็นเจ้าที่ของบ้านอีกองค์หนึ่ง (ซึ่งปุนเถ้ากงในจีนก็มีหลากหลายองค์ที่มาจากตระกูลใหญ่แซ่ดัง ส่วนตระกูลท้ายแถวหรือญาติห่างๆ ก็จะนับถือตามไปด้วย) ต่อมาก็มีเรื่องสงคราม และการค้า ทำให้ลูกหลานมังกรย้ายมาตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ อย่างเช่นประเทศไทยนี้ ในยุคที่ชาวจีนอพยพเข้ามาประเทศไทยกันมากๆก็ตั้งแต่ช่วงก่อนยุครัตนโกสินทร ใช้ชีวิตในไทยอย่างยากลำบาก อยากจะหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะลำลึกถึงบรรพบุรุษอยู่เสมอ

ศาลปุนเถ้ากงบางแห่งก็จะมีการบูชาเป็นลักษณะอากงและอาม่าที่เป็นบรรพบุรุษของตน (
土地公土地婆 )

สำหรับคนจีนยุคแรกที่หนีตายมาจากภัยสงคราม ไม่ได้นำ หล่อต๊าน หรือผงธูปศักดิศิทธิ์จากบ้านเกิดมาด้วยทำให้ไม่สามารถตั้งศาลบูชาบรรพบุรุษของตนได้ และบ้านในไทยไม่ใช่บ้านเมืองของเขา และไม่เคยมีบรรพบุรุษของเขาอยู่มาก่อน แต่ด้วยธรรมเนียมแห่งความเคารพเจ้าที่เจ้าทาง ชาวจีนจึงตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะเพื่อแสดงการเคารพบูชาเจ้าที่ที่มีมาก่อนนั่นเอง ต่อมาก็เริ่มมีชาวจีนมาตั้งฐิ่นฐานในไทยมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มของลูกหลานชาวจีนและสามารถสร้างศาลเจ้าบูชาเทพประจำหมู่บ้านของตนได้

ในภาพจะเป็นตัวอย่างขององค์ปุนเถ้ากงของมาเลเซีย ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ มักจะเรียกท่านว่า ตั่วแป๊ะกง

จะมีการบรรยายพิเศษเพิ่มเติมจากนักวิชาการด้านวัฒนธรรมไทยจีน ได้กล่าวในงานเสวนาพิเศษไว้ได้อย่างสอดคล้องและน่าสนใจดังนี้

ภาพจากสยามรัฐออนไลน์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยและจีน และอาจารย์สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้รู้เรื่องประเพณีจีน ร่วมบรรยาย

ในสมัยก่อนยุคสามก๊กชาวจีนจะนับถือบรรพบุรุษสำคัญกว่าเทวดา (เป็นการบูชาป้ายวิญญาณที่เราเห็นในภาพยนต์จีนย้อนยุค) จึงทำให้การบูชาตี่จู้เอี๊ยะเป็นรองและไม่นิยมกันในสมัยนั้น
ต่อมาในยุคสามก๊กมีสงครามและผู้อพยพย้ายถิ่นกันตลอดเวลา ตายจากหลบหนีเปลี่ยนชื่อแซ่แทบจะไม่มีใครเลยที่จะอยู่ในบ้านต้นตระกูลตนเองได้ ญาติมิตรกระจัดกระจายพลัดถิ่นกันไปทั่วสารทิศจึงทำให้การบูชาบรรพบุรุษได้หายไปหลายทศวรรษ เมื่อสงครามเริ่มสงบลง เด็กกำพร้าและผู้ที่เหลือรอดจึงได้เริ่มจับตัวรวมกลุ่มตั้งตระกูลใหม่และบูชาเจ้าที่เทพถู่ตี้กงกันแทน เพราะเหมือนเขาไม่มีบรรบุรุษให้บูชาแล้ว แต่ก็มีบางตระกูลที่ยังยึดที่มั่นอยู่ในถิ่นเดิมของตนได้เพราะอยู่ห่างจากเขตสงคราม แบบนี้ก็จะยังพอหลงเหลือธรรมเนียมการบูชาบรรพบุรุษไว้อยู่บ้าง

สำหรับการไหว้บูชาเจ้าที่ในชุมชนนั้นจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ ไหว้เจ้าที่กันในชุมชนแบบศาลเจ้าประจำเมือง และไหว้ในบ้านของตนเองแบบตี่จู้เอี๊ยะ

สำหรับปุนเถ้ากงและตี่จู้เอี๊ยะในประเทศไทย ท่านได้ให้ข้อสรุปว่าการบูชาปุนเถ้ากงของเมืองไทยจะไม่ใช่การบูชาในแบบจีนแท้ที่เป็นการบูชาบรรบุรุษ เพราะที่เมืองไทยไม่มีบรรพบุรุษมาบุกเบิกตั้งตระกูลกันจึงบูชาในแบบเจ้าที่ในบ้านคือตี่จู้เอี๊ยะ ส่วนศาลเจ้าปุนเถ้ากงหรือศาลเจ้าจีนประจำเมืองในไทยนั้นจะเกิดมาจากผู้มีคุณงามความดี หรือผู้ที่คนในท้องถิ่นให้การเคารพเมื่อเสียชีวิตไปทุกๆคนในท้องถิ่นก็จะยกย่องเชิดชูและสร้างศาลให้เป็นเจ้าบูชา เป็นการเอาความเชื่อของการบูชาบรรพบุรุษในสมัยโบราณมาโยงกับเทพถู่ตี้กงของจีนแล้วเรียกว่าเป็นปุนเถ้ากงในแบบความเชื่อของคนไทยจีน จึงทำให้มีวัฒนธรรมการบูชาที่ผสมผสานกันนี้เกิดขึ้นในไทยนับแต่นั้นมา

สำหรับตี่จู้เอี๊ยะนั้นจะเป็นเทพพื้นฐานที่คนจีนนับถือทุกคนทุกบ้าน ซึ่งในอดีตคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยจะเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัย จึงนำความเชื่อเรื่องการเคารพและวิธีการบูชาเทพเจ้าที่มาเผยแพร่ในรูปแบบของการบูชาศาลตี่จู้เอี๊ยะ

ภาพจากสยามรัฐออนไลน์ งานสาวนาปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 13 หัวข้อ ตี้จูเอี๊ยะและปุนเถ้ากง เทพผู้คุ้มครองบ้านและชุมชนจีนโพ้นทะเล

——————————————————————-

ถามว่า บ้านของฉันตอนนี้มีทั้งศาลปุนเถ้ากงและศาลตี่จู้เอี๊ยะด้วย แบบนี้ผิดหรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ผิดครับ เพราะการบูชานั้นจะเป็นคนละจุดประสงค์กัน การบูชาปุ่นเถ้ากงก็คือบูชานับถือบรรพบุรุษต้นตระกูลของคุณที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางบ้านก็จะนับถือเป็นเทพพิเศษที่ตนนับถือซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อของตัวบุคคล
ส่วนศาลตี่จู้เอี๊ยะก็บูชาท่านเจ้าที่ให้ช่วยคุ้มครองดูและให้โชคลาภต่อทุกคนในบ้านของคุณเองครับ

สรุปก็คือ บ้านซื้อใหม่ให้ตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะหลังเดียวก็พอครับ แต่ถ้าเป็นบ้านเก่าเป็นบ้านตกทอดมรดกมาสู่คุณแบบนี้ก็สามารถตั้งศาลปุนเถ้ากงเพื่อบูชาอีกหลังได้ครับ

ในสมัยแรกเริ่มที่ชาวจีนมาตั้งรกรากที่ไทย วัสดุที่ใช้ทำศาลและแท่นบูชาตี่จู้เอี๊ยะก็จะใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ลังไม้และกล่องกระดาษมาเขียนตัวอักษรมงคลลงไปเพื่อใช้กราบไหว้บูชาท่านเจ้าที่ ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบศาลบูชาให้สวยงามและเป็นมงคลขึ้นตามทุนทรัพย์และฐานะดังที่เห็นในปัจจุบัน

คําว่า “ศาลเจ้า” ในภาษาจีน เรียกว่า “เมี่ยว” (廟) เดิมทีหมายถึง สถานที่ที่ชาวจีนใช้เคารพบูชาบรรพบุรุษ โดยกฎเสนาบดีสถานที่กระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นกำหนดไว้คือ ศาลเจ้าหมายถึง ศาลเจ้า โรงเจ และศาลบูชาบรรพบุรุษร่วมกัน

(1)ภาพพ่อค้าข้าวชาวจีน (2)ย่านการค้าบริเวณถนนเจริญกรุง และเวิ้งนาครเกษม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (3)โรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน คอยรับซื้อข้าวที่ล่องมาทางเรือ (4) ร้านค้าชาวจีนในย่านสำเพ็ง

ชาวจีนเป็นกลุ่มชนที่มีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ทําให้ศาลเจ้ามีความสําคัญต่อวิถีชีวิตประจําวันของชาวจีนเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีการสร้างศาลเจ้าในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนจํานวนถึง 680 แห่ง โดยศาลเจ้าจีนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในจังหวัดปัตตานีนั่นเอง

เริ่มตำนานจากเทพถู่ตี้กง จนมาสู่วัฒนธรรมการบูชาศาลตี่จู้เอี๊ยะของไทยในปัจจุบัน

ศาลตี่จู้เอี๊ยะจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆตามการพบเห็นคือ ตี่จู้เอี๊ยะในบ้าน และตี่จู้เอี๊ยะนอกบ้าน

ศาลแบบตั้งนอกบ้าน จะเป็นการตั้งเพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านมากราบไหว้บูชาได้ (เหมือนเป็นศาลเจ้าถู่ตี้กง หรือปุนเถ้ากงประจำหมู่บ้าน) โดยส่วนมากก็จะตั้งอยู่ใกล้ๆกับจวนของเจ้าเมือง หรือตั้งที่กลางหมู่บ้าน หรือในฮวงจุ้ยที่สำคัญในพื้นที่ เป็นต้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะมีสิ่งก่อสร้างนี้อยู่ทั่วทุกพื้นที่ในจีนและประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแบบแท่นหินสลักอักษร หรือการแกะสลักเป็นองค์แปะกง หรือแม้กระทั่งการนำเอาแผ่นหินมาวางซ้อนกันเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมก็มีให้พบเห็นมากมาย

ภาพและข้อมูลจากศูนย์วัฒนธรรมไต้หวัน แสดงวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมของศาลถู่ตี้กงในยุคต่างๆ

ตี่จู้เอี๊ยะในบ้าน เริ่มแรกก็จะเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางที่รับอิทธิพลมาจากองค์ฮ่องเต้ ต่อมาก็แพร่ไปสู่พ่อค้าเศรษฐี ที่เมื่อไปรับตำแหน่งหรือค้าขายต่างถิ่นแล้วสร้างบ้านใหม่ มีความต้องการอยากจะเคารพบูชาเจ้าที่ที่อยู่ในบ้านตนเองเป็นแบบส่วนตัว จึงมีธรรมเนียมการตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะภายในบ้านเกิดขึ้น โดยหลักๆแล้วเพราะต้องการแสดงถึงฐานะและความมั่งคั่งของตน แต่ต่อมาเริ่มมีการเลียนแบบวัฒนธรรมนี้ จนบ้านทุก ๆ หลังมีการตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะเพื่อบูชาเป็นของตนเอง จนกลายมาเป็นธรรมเนียมประเพณีจนมาถึงทุกวันนี้นั่นเอง (ในสมัยก่อนหากฮ่องเต้และเหล่าขุนนางนับถือเทพองค์ใด ราษฎรชาวบ้านก็จะนับถือเทพองค์นั้น ๆ ตามไปด้วย)

ศาลเจ้าถู่ตี้กงมีมากมายขึ้นเรื่อยๆ นับว่าเป็นเทพเจ้าที่ศักดิสิทธิ์และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ถึงขนาดที่มีกระดาษเงินกระดาษทองพิเศษเป็นของตนเอง ที่ชื่อว่า “ถ่อตี้กงจิน” ไว้สำหรับให้เผาบูชาให้แก่ท่านเจ้าที่ในวันสำคัญ

จากความเลื่อมใสของฮ่องเต้ เป็นต้นแบบการบูชาสู่ขุนนาง มหาเศรษฐี และแพร่กระจายสู่รากหญ้าไปทั่วทั้งอาณาจักร

สำหรับชนชั้นขุนนางจะมีการตั้งศาลบูชาทั้งนอกเรือนและในตัวเรือน (ศาลที่อยู่นอกตัวเรือนบางแห่งก็จะเปิดให้ชาวบ้านมากราบไหว้ได้ด้วย) เหล่าชนชั้นสูงจะจ้างช่างแกะสลักสิ่งมงคลหรือ จวงโฟว (妝佛) ที่เชี่ยวชาญในการแกะสลักศาลและรูปปั้นเทพเจ้า สำหรับศาลหลังใหญ่ที่อยู่นอกตัวเรือน พวกเขาจะเลือกใช้วัสดุที่เน้นความมั่งคงแข็งแรงเป็นหลัก เช่น หิน อิฐ กระเบื้อง และดินเหนียวผสมขี้เถ้าเพื่อความมั่งคงแข็งแรง ส่วนศาลหลังเล็กที่ตั้งในบ้านก็เลือกวัสดุมงคลที่บ่งบอกถึงฐานะบารมีของเจ้าของบ้านนั้นๆด้วย วัสดุที่เห็นได้มาก เช่น หินหยก ทับทิม หินอ่อน หินแกรนิต ไม้แดง ทองเหลือง หรือแม้กระทั่งทองคำก็นำมาสร้างเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการทำศาลด้วย เพราะทองเป็นของมงคลที่สามารถขึ้นรูปได้ง่ายและสวยงาม ช่วยเสริมความเป็นมงคลให้กับศาลตี่จู้เอี๊ยะได้เป็นอย่างดี

ศาลตี่จู้เอี๊ยะจะมีการนำวัสดุธรรมชาติหลายอย่างมาทำเป็นศาล เพราะเชื่อกันว่าสิ่งที่เกิดจากธรรมชาตินั้นหล่อหลอมและดูดซับพลังจากผืนดินขึ้นมาทำให้เกิดความเป็นมงคลสูงสุด ที่เห็นกันมากจะเป็นศาลที่สร้างโดยหิน เช่น หินตระกูลแกรนิต และหินอ่อน ที่ใช้สลักทำเทวรูป หรือสิงโตหิน หรือมีแบบหินหยกบ้าง แต่ก็มีให้เห็นได้ยากเพราะหยกมูลค่าสูงมาก
ส่วนไม้นั้นจะต้องเป็นไม้มงคลเนื้อแข็งสีแดง หรือสีน้ำตาลแดงโดยเลือกใช้ส่วนแก่นไม้เท่านั้น (ไม้จำพวกพยุงไหหลำ ประดู่แดง ชิงชัน)

ภาพของไม้ประดู่แดงเป็นไม้มงคลเนื้อแดงสด จะมีความนิยมสูงสุดโดยเชื่อกันว่าเป็นไม้แห่งโชคลาภ เพราะดอกสีแดงที่เหมือนดอกประทัดจะออกดอกในช่วงตรุษจีนพอดี


สำหรับกลุ่มวัสดุโลหะก็จะมี ทองเหลือง และทองคำ สำหรับทองคำนั้นถือเป็นของมงคลล้ำค่า จะนำมาหล่อหรือสลักเป็นสัตว์มงคล เช่น มังกรและหงส์ ประดับบนยอดศาล แต่ไม่ค่อยนิยมในระดับชาวบ้านเพราะมูลค่าสูงมาก จึงเป็นการทาสีทองประดับกันเสียมากกว่า

ภาพตัวอย่างของศาลตี่จู้เอี๊ยะและศาลบรรพชนที่ประดับด้วยทองคำ เป็นสถาปัตกรรมของชนชั้นสูงในอดีต

มีบางมลฑลจะนำเอาศาสตร์ฮวงจุ้ยของธาตุต่างๆมาประกอบกันเป็นศาลตี่จู้เอี๊ยะที่ให้มีความมงคลสูงสุด เช่น ไม้ หิน ทอง นอกจากนั้นก็จะบูชาด้วยน้ำและไฟ เพื่อต้องการให้ได้ศาลบูชาที่มีธาตุทั้ง 5 ครบถ้วน (ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ)

จากอดีตเป็นเพียงก้อนหินแท่งไม้ธรรมดา ผ่านกาลเวลามาจนกลายเป็นศาลที่มีรูปร่างที่สวยงาม ผนวกกับความเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ย นำมาประกอบและตกแต่งอย่างอลังการในปัจจุบัน

กลับมาคุยกันต่อในเรื่องของสถาปัตยกรรมของศาลตี่จู้เอี๊ยะที่ตั้งในบ้านกัน สำหรับศาลที่ประดับด้วยทองคำ อัญมณี และหินหยกแกะสลักนั้นค่อนข้างราคาสูง จะมีแต่ชนชั้นสูง เช่น ขุนนาง เจ้าเมือง พ่อค้า หรือเศรษฐี หรือผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่มีได้ อีกทั้งต้องใช้น้ำมันดินเพื่อจุดไฟบูชา ราคาก็ไม่ใช่น้อย ชาวบ้านธรรมดาในชนบทที่ห่างไกลไม่สามารถมีได้ ดังนั้นวัสดุที่ชาวบ้านนำมาสร้างศาลที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกก็คือไม้นั่นเอง บ้านบางหลังนั้นก็จะประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างง่ายด้วยแผ่นไม้สลักอักษรบูชาอย่างเรียบง่ายก็มีให้พบเห็นกันทั่วไป

ภาพด้านบนนี้ จะเป็นตัวอย่างของศาลบูชาเจ้าที่ในแบบฉบับจีน-ทิเบต จะมีลักษณะเป็นชั้นตู้เพื่อวางพระและเทพองค์อื่น ๆ ร่วมด้วย

ประเทศจีนจะมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล มีหลากหลายฤดู อากาศเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อ มีร้อน มีฝน มีความชื้น มีอากาศแห้งมากน้อยก็ตามแต่ละมลฑล ดังนั้นวัสดุที่จะนำมาทำศาลก็จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยจะยึดเอาวัสดุที่แข็งแรงเป็นหลัก และต้องมีความสัมพันธ์ตามธาตุในฮวงจุ้ยที่เป็นมงคลด้วย

คำถาม ทำไมศาลตี่จู้เอี๊ยะไม้ต้องทาสีแดง?
คำตอบคือ จะมีความเชื่อว่าธาตุดินคือธาตุหลักของท่านเจ้าที่ ศาลไม้นั้นก็คือธาตุไม้ แต่ว่าไม้นั้นเป็นธาตุข่มธาตุดิน (ดูจากวงจรธาตุประกอบ ลูกศรวงด้านนอกบอกถึงการส่งเสริม ส่วนลูกศรสีแดงด้านในคือการแสดงการข่มทำลายธาตุ) นั่นก็คือธาตุไม้นั้นเป็นธาตุทำลายธาตุดิน ดังนั้นซินแสจึงต้องใช้หลักของธาตุมาแก้ ด้วยการนำธาตุไฟ ที่เป็นธาตุคั่นกลางระหว่างไม้และดินมาช่วย ธาตุไม้ส่งเสริมธาตุไฟ และธาตุไฟก็ไปส่งเสริมธาตุดินต่อ ทำให้วงจรธาตุนั้นสมบูรณ์โดยที่ไม่ทำลายกัน (ธาตุไฟก็คือการใช้สีแดงมาเป็นสัญลักษณ์ ร่วมกับการบูชาด้วยไฟ เช่น การจุดธูปเทียนเทียนบูชานั่นเอง) และสีแดงก็สื่อถึงสิ่งมงคลด้วย จึงมีธรรมเนียมนิยมในการใช้สีแดงที่สื่อถึงธาตุไฟมาใช้ประโยชน์ ทำให้ศาลไม้ที่เห็นในทุกวันนี้มีการทาสีแดงทั่วทั้งหลัง

ธาตุไม้ ข่ม/พิฆาต ธาตุดิน
ธาตไม้ ฮะ ธาตุไฟ และ ธาตุไฟ ฮะ ธาตุดิน (ฮะ ก็คือสงเสริม)

คำถาม แล้วศาลหินอ่อนทำไมจึงไม่ทาสีแดง?
คำตอบคือ สีแดงสื่อถึงธาตุไฟ การบูชาด้วยไฟสมัยนี้ง่ายมาก เพียงเราเปิดไฟที่ศาลก็คือการบูชาด้วยไฟแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สีแดงมาพ่นทับแบบศาลไม้ครับ ศาลหินอ่อนคือธาตุดินซึ่งเป็นธาตุเดียวกับท่านเจ้าที่ ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้สีแดงมาแก้ธาตุชง (ธาตุทำลาย) แบบศาลไม้ครับ

ความเฮงมาจากการบูชาด้วยไฟ ไม่จำเป็นต้องทาสีแดงไปซะหมด ยกตัวอย่างเช่น การจุดธูปเทียน เปิดโคมไฟประดับ หรือการจุดประทัดในวันสำคัญ เป็นต้น

ในยุคถัดมา สำหรับไม้มงคลเนื้อแข็งที่มีสีแดงนั้นเริ่มหาได้ยาก อันมาจากภัยธรรมชาติและเกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้ง (ไม้เนื้อแข็งจะนำไปทำเป็นอาวุธและยุทโธปกรสงคราม) ไม้แดงจึงมีราคาสูงและหายาก จึงมีการนำไม้ราคาถูกมาทดแทน เช่น ไม้จำพวกสักจีน โอ๊ค ไม้ตระกูลฉำฉา หรือไม่ไผ่ นำไม้พวกนี้มาแช่น้ำแดงหรือทาย้อมสีไม้ ให้เป็นไม้เนื้อสีแดง และนี่จึงเป็นกรรมวิธีก่อเกิดศาลสีแดงที่ทำกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงยุคกลาง วัสดุไม้ในการสร้างศาลตี่จู้เอี๊ยะจะใช้ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เกรดต่ำมาทาสีแดงให้สวยงาม แต่ความจริงก็เพื่อปิดบังเนื้อไม้ที่แท้จริงออกไปนั่นเอง

ในสมัยโบราณของจีนจะใช้รากและเมล็ดพืชหลากชนิดมาผสมกับผงแร่ซินนาบาร์ หรือชาด มาทาลงบนเนื้อหินให้เป็นสีแดง และใช้ย้อมไม้ให้สีสดขึ้น และบางแห่งจะสกัดน้ำของดอกคำฝอยมาทาเนื้อไม้ทับอีกชั้นเพื่อทำการผนึกสีให้คงทนขึ้น และในยุคถัดมาที่จีนทำการค้ากับเปอร์เซียจึงมีการเปลี่ยนมาใช้ตะกั่วแดง (lead tetraoxide) มาผสมเพื่อทำให้สีคงทนและเงางามขึ้น


แร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้ามาจากประเทศจีน จะนิยมนำมาใช้ในงานเครื่องเขิน และงานจิตรกรรมฝาผนังต่างๆ

” ในปัจจุบันมีโรงงานผลิตศาลไม้บางแห่ง (ขอย้ำว่าบางแห่งเท่านั้น) ใช้ไม้อัดและเศษไม้จากโรงเลื่อยมาประกอบลดต้นทุนเพื่อทำกำไร แต่ด้วยเทคนิคการใช้สีแดงสดผสมแล็กเกอร์ พ่นทับเนื้อไม้ลงไปทำให้ศาลสวยเงางาม แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าไม้ใส้ในที่นำมาทำศาลหน้าตาเป็นอย่างไร เราเห็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเท่านั้น แน่นอนว่าศาลแบบนี้ราคาถูก หาซื้อง่าย แต่มันก็แลกมากับหลายๆอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนคืออายุการใช้งานที่สั้น นั่นทำให้มีหลายๆ บ้านต้องเปลี่ยนศาลใหม่กันเกือบจะทุกปีเลยก็มี “

ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานถึงปัจจุบัน ความคุ้นเคย และภาพติดตาจากการพบเห็นกันว่า ในทุกๆ บ้านเขานิยมบูชาศาลไม้สีแดง จึงก่อเกิดเป็นความเชื่อส่วนตัวที่เอามาผสมรวมในธรรมเนียมประเพณี จากปากต่อปากฝังรากความคิดที่ลึกลงมาถึงรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนานจนมาสู่สังคมปัจจุบัน นั่นจึงทำให้เชื่อกันไปว่าการบูชาศาลตี่จู้เอี๊ยะจะต้องเป็นศาลไม้ที่เป็นสีแดงเท่านั้น…

ในปัจจุบันที่ประเทศจีน และไต้หวันก็มีการผลิตศาลหินแกะลักให้เลือกซื้อมาบูชามากมายหลายแบบ

ถามว่า การบูชาศาลไม้สีแดง ผิดหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ผิดครับ
ถามว่า การบูชาศาลหินอ่อน ผิดหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ผิดเช่นกันครับ
นั่นก็เพราะว่าวัสดุทั้ง 2 นั้นเกิดจากธรรมชาติ ดูดซับรับพลังมาจากผืนดินเช่นกัน และเป็นหนึ่งในธาตุทั้ง 5 ของธาตุฮวงจุ้ยด้วย จึงขอฟันธงเลยว่า ศาลไม้และศาลหินอ่อน บูชาได้ไม่ผิดธรรมเนียมประเพณีแน่นอน

การใช้สีมาสื่อเป็นสัญลักษณ์เกิดขึ้นมานานกว่าพันปี โดยมีการกำหนดให้สีแต่ละสีมีความหมายอย่างเป็นทางการนั้นจะอยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง สำหรับสีแดงนั้นก็จะสื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งทวยเทพ พละกำลัง และความรุ่งโรจน์ สีแดงจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและความสุข หากสีแดงปรากฏบนอาภรณ์ก็จะสื่อถึงยศถาบรรดาศักดิ์และบารมีสูงส่ง และชุดสีแดงจะใช้เฉพาะในงานมงคลเท่านั้น และการนำสีแดงมาแต่งเติมที่ศาลเจ้าก็เช่นกัน ในด้านของศาสนศิลป์จะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงสถานที่ศักดิสิทธิ์ ส่วนอีกมุมหนึ่งก็เพื่อทำให้ทุกๆ คนมองเห็นได้ง่ายและชัดเจน เพื่อให้นักเดินทางและชาวบ้านทั่วไปผ่านไปมา เดินทางมากราบไหว้ได้โดยไม่หลงผ่านเลยไป

เกร็ดความรู้
สีแดง = อั่งซื่อ อั่ง หรือ อั๊ง แปลว่าความดีงาม ซื่อ แปลว่าเรื่องหรือกิจกรรมที่ทำ อั่งซื่อจึงพ้องเสียงได้เป็นความหมายมงคลที่แปลว่า เรื่องมงคล หรือ ทำอะไรก็ดีก็เฮงไปหมด


ภาพจาก wiki/สีในวัฒนธรรมจีน ในสมัยราชวงศ์ฉิน สมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงให้มีการใช้ทฤษฎีเบญจธาตุ หรือธาตุทั้ง 5 มาประกอบ เพื่อใช้อธิบายแม่สีทั้ง 5 ว่ามีความหมายและคุณสมบัติแบบใด ไม่เว้นแม้แต่สัตว์มงคล อาหาร ผัก และผลไม้ ที่มีอิทธิพลต่อการจัดเครื่องเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าทั้งหลายด้วย อย่างเช่นการถวายไก่หรือลูกท้อที่เป็นธาตุทอง ก็จะหมายถึงการขอพรเรื่องเงินทองทรัพย์สิน เป็นต้น

เราควรจะเลือกซื้อศาลตี่จู้เอี๊ยะแบบไม้หรือศาลหินอ่อนดีล่ะ?

คำตอบคือ อยู่ที่ความพอใจที่ท่านต้องการ บูชาศาลแบบไหนก็ได้มงคลเช่นกัน เพราะโบราณนานมาแล้วก็ใช้วัสดุทั้งคู่มาโดยตลอด แต่หากเน้นเรื่องความวิจิตรตระการตา การเสริมฐานะ และเน้นที่ความคุ้มค่า คงทนแข็งแรง ไฟไหม้หรือน้ำท่วมก็หายห่วง ดูแลรักษาง่าย ทำความสะอาดแค่ปีละครั้งศาลก็กลับมาสวยใหม่ได้ ขอแนะนำศาลหินอ่อนเลยครับผม ตอบโจทย์ของท่านได้ทุกข้อแน่นอน (ขออนุญาตขายของเลยก็แล้วกันนะครับ^^)

บทสัมภาษณ์พิเศษของเหล่านักวิชาการ ในประเด็นเรื่องการบูชาศาลตี่จู้เอี๊ยะแบบไม้ และหินแกะสลัก

ความเห็นของซินแสเช็ง (ซินแสจีนด้านพิธีกรรม)

” มองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นได้ว่าการบูชาองค์เจ้าที่ตี่จู้เอี๊ยะกง หรือเทพองค์ใดๆ ก็ตาม จุดเริ่มต้นนั้นคือความศรัทธาล้วนๆ ซึ่งศาลเจ้าจะมีรูปทรงและการตกแต่งแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและฐานะทางสัมคม ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนตี่จู้เอี๊ยะนี่แหล่ะคือสิ่งหนึ่งที่ใช้แสดงถึงฐานะและบารมีของเจ้าของบ้านได้

การอัญเชิญท่านมาสถิตในศาลแบบใด อยากจะบูชาและยกย่องท่านมากน้อยเพียงใดก็อยู่กับความสามารถของเราเอง มีน้อยก็จัดธรรมดาแบบเรียบง่าย มีมากก็จัดเต็มให้อลังการไป ดังนั้นไม่ต้องเถียงกันให้มากความ ว่าศาลไม้และศาลหินอ่อนแบบไหนถูกต้อง เพราะใช้ได้ทั้งคู่ มันคือรสนิยมของคุณ มันคือความเชื่อของคุณ และมันคือความศัทธาของตัวคุณเอง แต่คุณจะไปกล่าวหาเอาผิดคนที่นับถือเทพองค์เดียวกันกับคุณแต่เพราะว่าเขามีข้าวของเครื่องใช้ไม่เหมือนกันกับคุณไม่ได้ “

——————————————————————-


ความเห็นของอาจารย์วิศิษฐ์ กว่านเชา (โหราจารย์และซินแสด้านฮวงจุ้ย ไทย-ฮ่องกง)

ที่จีน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร แต่ละประเทศเขาก็มีศาลรูปทรงคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ขนาดองค์เจ้าที่ยังใส่ชุดเครื่องทรงไม่เหมือนกันเลย และวัสดุที่เขาใช้ทำศาลก็เป็นวัสดุตามภูมิภาคพื้นที่ที่หาได้ง่ายในประเทศของเขา เขาไม่ได้มีเรื่องถกเถียงแบบนี้เลย อย่างคุณสร้างบ้านดีไซน์แบบไหน ใช้อิฐ ใช้ปูน ใช้ไม้ ใช้หลากหลายวัสดุจากทั่วสารทิศมาปลูกทับบนที่ดินท่าน ก็ไม่เห็นว่าท่านเจ้าที่จะมาว่าคุณเลยจริงไหม (อาจารย์พูดพร้อมกับหัวเราะเบาๆ) และอย่างศาลพระภูมิของไทยสมัยก่อนเป็นไม้ สมัยนี้ล่ะมีทั้งปูน หินอ่อน สแตนเลสทองเหลืองมากมายไปหมด คุณยังไม่เห็นจะเถียงกันเลย ทำไมล่ะ? (ท่านหัวเราะอีกรอบ)

แปลกมากที่คนไทยมาถกเถียงกันเพราะเรื่องนี้ อาจารย์เข้าใจว่าที่เถียงกันมันมาจากการตลาดล้วนๆ ไม่ขอพูดถึงดีกว่า อาจารย์อยากให้ทุกคนคิดว่าท่านเจ้าที่ก็คือญาติผู้ใหญ่ของเราคนหนึ่งในบ้าน ศาลท่านจะเป็นลังไม้ กล่องขนม ภาพเขียน ป้ายอักษร หรือหินแกะสลัก มันได้หมด คุณจะจัดการให้ศาลเป็นแบบไหน มันอยู่ที่กำลังทรัพย์ ความสามารถและปัญญาที่คุณจะจัดหามาได้ ขอเพียงคุณมีใจศัทธาบูชาท่าน ศาลแบบไหนท่านก็ยินดีเสมอ ท่านรักเราเหมือนลูกหลานนั่นแหล่ะ “

——————————————————————-

ความเห็นของคุณโอภาส (นักออกแบบภายในและธุรกิจส่วนตัว)

” สำหรับเรื่องศาลตี่จู้เอี๊ยะผมที่เป็นนักออกแบบภายในก็เจอลูกค้าหลายเคสมากครับ ที่เยอะสุดจะเป็นเคสที่มีปัญหาที่ว่าพ่อแม่บังคับลูกให้ตั้งศาลแบบที่เขาไม่ชอบ ลูกเขาอยากได้ศาลทรงโมเดิร์นแบบที่เพื่อนๆเขามีกัน บางรายผมก็ช่วยลูกค้าเกลี้ยกล่อมได้สำเร็จ แต่ส่วนมากจะไม่ยอมเลยครับ ต้องจำใจยอมๆคุณแม่ไป แต่เขาก็แอบไปซื้อบ้านใหม่อยู่โดยไม่บอกแม่ก็มีครับ บ้านหลังนั้นก็ปล่อยทิ้งไว้น่าเสียดายมาก สำหรับผมแล้วปลูกบ้านให้ตามใจผู้อยู่ดีกว่าครับ การอยู่ในบ้านที่ตนเองรักและสบายใจกับสิ่งที่เลือกผมว่าดีที่สุดเลย ผมไปทำงานหลายประเทศพบเห็นศาลตี่จู้เอี๊ยะทรงต่างๆมากมาย รูปแบบก็ผันแปรไปตามยุคสมัย ในไทยผมว่าต้องใช้เวลาซักหน่อยเพราะยังไม่คุ้นเคยกัน “

——————————————————————-

ความเห็นของคุณแพทริเซีย หลิน (นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาไต้หวัน)

” ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราบูชาท่านเจ้าที่หรือบูชาศาล ถามแบบนี้คุณน่าจะเข้าใจได้นะ แน่นอนว่าบางคนนั้นให้ความสำคัญกับศาลมากกว่าการเคารพบูชาท่านเจ้าที่เสียอีก ฉันมองว่าศาลตี่จู้เอี๊ยะคือส่วนประกอบในพิธีกรรม ไม่ใช่แก่นหลักที่สำคัญเหนือองค์เจ้าที่เลย ใช่อยู่ที่ศาลนั้นคือที่พำนักที่ท่านสถิตอยู่ ดังนั้นเราจึงหาสิ่งที่ดีที่สุดมาทำเป็นศาลให้กับท่าน ใช้ของและวัสดุที่เป็นมงคลที่สุด และตกแต่งให้ศาลสวยงามเหมาะสมกับฐานะของเรามากที่สุด มันจึงกลายเป็นธรรมเนียมไปโดยปริยาย อย่างในยุคเริ่มต้นนั้นชาวบ้านทั่วไปก็บูชาเทพด้วยแท่นหินสลัก และแผ่นไม้ที่เขียนตัวอักษรบูชากันแบบเรียบง่าย

ตามประวัติศาสตร์ของพิธีกรรมโบราณที่ฉันศึกษามานั้นไม่มีข้อกำหนดใดๆ เลยว่าศาลตี่จู้เอี๊ยะจะต้องเป็นไม้และทาสีแดง หรือจะต้องเป็นหินแกะสลักเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนคิดเช่นนั้นอาจจะมาจากความเชื่อจากภาพที่เห็นจนชินตา ทำต่อๆกันมา หรือมาจากค่านิยมของแต่ละพื้นที่

เพราะวัฒนธรรมของประเทศจีนนั้นถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างใหญ่มาก แต่ละมณฑลแต่ละประเทศก็จะมีขนบธรรมเนียม มีลัทธินิกายที่แตกต่างกัน ภูมิประเทศแตกต่าง และสถาปัตยกรรมเทพเจ้าก็ต่างกันด้วย อยู่ที่ว่าคุณนั้นรับอิทธิพลมาจากจีนในภูมิภาคไหนเป็นสำคัญ จึงไม่แปลกเลยที่ศาลตี่จู้เอี๊ยะในแต่ละพื้นที่ในโลกนั้นจะแตกต่างกัน ในอนาคตหน้าตาและวัสดุของศาลเจ้าก็จะเปลี่ยนไปด้วยยุคสมัยเช่นกัน ฉันเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น “

ตัวอย่างภาพของศาลตี่จู้เอี๊ยะทรงต่างๆ จากคนเชื้อสายจีนทั่วโลกที่จะบูชาเทพเจ้าที่ โดยจะวางเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ไว้ที่ชั้นด้านบนเหนือตี่จู้เอี๊ยะ ซึ่งวัสดุที่นำมาทำศาลก็จะมีหลากหลายชนิด และมีดีไซน์ที่มีภาพลักษณ์ที่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมของประเทศตนเอง

——————————————————————-

ความเห็นของคุณ หลี ฟู่ เจวี่ยน 林複凖 (นักธุรกิจทำศาลเจ้าในไต้หวัน)

” ในไต้หวันจะไม่นิยมใช้ไม้กันซักเท่าไหร่เพราะเราจะเน้นศาลแบบกลางแจ้งที่เป็นหินและปูนหล่อคอนกรีตเป็นหลักเพราะแข็งแรงทนทาน ทนแดดและฝนได้นานจนคุณลืมไปเลยนั่นแหล่ะ ในปัจจุบันรัฐบาลสั่งให้ลดการค้าขายหินธรรมชาติลงเราจึงมาเน้นการหล่อด้วยปูนแทน ศาลที่ผลิตในไต้หวันของเรามีคุณภาพมาก ทำตามสั่งได้ตามที่คุณต้องการ เราส่งไปขายทั่วโลกและที่ประเทศไทยของคุณด้วยนะ ที่ไทยส่วนมากจะสั่งเป็นศาลเทพเจ้าต่างๆ เช่น ศาลถู่กง ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลกวนอู และเจดีย์จีน ออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งจะนิยมแบบคอนกรีต เราใช้เวลา 2-3 วันก็เสร็จแล้ว ทำให้เราส่งออกได้ตามความต้องการของตลาด สำหรับรูปแบบศาลผมมองว่ามันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหล่ะ เราออกแบบและดัดแปลงให้สวยงามดูไม่น่ากลัวเหมือนสมัยก่อนและตลาดก็ยอมรับ การเลือกศาลมาบูชานั้นเป็นความนิยมของคนในแต่ละพื้นที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นวัสดุแบบไหนคุณก็บูชาท่านเจ้าที่ได้เช่นกัน “

——————————————————————-

ภาพด้านล่าง
แสดงภาพของศาลถู่กง หรือศาลตี่จู้เอี๊ยะของเวียดนามแบบไม้และหินแกะสลัก ที่นี่จะบูชาองค์เทพ 2 องค์ โดยวางคู่กันคือ เทพแห่งความมั่งคั่ง และเทพเจ้าที่ ผู้ครองผืนดิน

ความเห็นของคุณอา รัน ไฮ (ไกด์ทัวร์เวียดนาม)

ที่เมืองดานังบ้านผม (เวียดนาม) เกือบจะทุกบ้านเลยครับที่ตั้งศาลถู่กง Thổ Công เราก็รับวัฒนธรรมของจีนมาหลายอย่าง อย่างเช่นเรื่องประเพณีการตั้งศาลถู่กงนั้นมีแทบทุกบ้าน ร้านค้าต่างๆส่วนมากก็เป็นศาลไม้ครับ ศาลของเราจะมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายตู้ มีแบบเสามังกรและแบบสไตล์โมเดิร์นโชว์เนื้อไม้สีเข้มที่สวยงาม แต่จะไม่ทาสีแดงแบบศาลจีน เราจะเปิดไฟหลากหลายสีไว้ตลอดเวลา ร้านค้าต่างๆมีการย้ายเข้าออกตลอดจึงใช้ศาลไม้เพราะสะดวกที่สุดในการเคลื่อนย้ายครับ ส่วนศาลแบบหินอ่อนจะนิยมตั้งกันที่บ้านพัก เพราะที่ดานังนั้นเป็นเมืองหินอ่อนที่มีชื่อเสียง ก็มีหลายหลังไม่น้อยเลยที่มีศาลแบบหินอ่อน และเราก็ส่งไปขายที่เมืองจีนด้วย

——————————————————————-

สรุปแล้วศาลเจ้าที่จะทำจากไม้หรือหินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เราจะมาคำนึง แต่หัวใจหลักนั้นคือความศัทธา และการบูชาเคารพอย่างมีวินัย บนพื้นฐานประเพณีและการใช้หลักฮวงจุ้ยที่ถูกต้องเพื่อเสริมความมงคลให้กับชีวิต ดังนั้นไม่ว่าเราจะบูชาศาลตี่จู้เอียะแบบไม้หรือหินอ่อน ก็ล้วนแล้วแต่ดีมีมงคลเช่นเดียวกันทั้งนั้น

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน ขอให้เฮงๆ รวยๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขทุกท่านครับผม

ข้อมูลอ้างอิง
: หนังสือจีน การศึกษาวิวัฒนาการประเพณีความเชื่อของเทพแห่งผืนดินในภูมิถาคต่างๆ: ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เทศกาล และมรดกทางวัฒนธรรมจีนโบราณ 土地神信仰的跨國比較研究:歷史、族群、節慶與文化遺產│桂冠圖書│徐雨村/張維安/羅烈師
: หนังสือจีน ตำนานความเชื่อเทพแห่งผืนดินของไต้หวัน 走寻屏东土地公信仰文化论文集 (台版 2015)
: หนังสือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย / สิง สู่ย หยู ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2000.
: หนังสือ สังคมชาวจีนในประเทศไทย / เกียรติศักดิ์ มั่นศรี วิทยานิพนธ์ วิทยาลัยการทัพบก ปี 2519.
: บันทึกศาลเจ้าจีน ศรัทธาสถานในสังคมไทย / เจษฎา นิลสงวนเดชะ อาจารย์ประจําคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
: ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน ศูนย์วัฒนธรรมถู่ตี้กง (Taoyuan Tu Di Gong Culture museum Taiwan)
: BBC NEWS Chinese : ธุรกิจการสร้างศาลเจ้าในไต้หวัน 台灣工廠造廟大生意
: นิตยสาร watch taiwan No.38|第38期《觀‧臺灣》-出神人化
: th.wikipedia.org/wiki/สีในวัฒนธรรมจีน
: website hisour.com / 历史和艺术中的红色
: ศูนย์สนเทศภาคเหนือ / ข้อมูลวัตถุดิบ library.cmu.ac.th
: ทริปการเที่ยวชมและศึกษาวัฒนธรรมเมืองจีน ฮ่องกง และเวียดนาม
: คลิปรายการเรื่องนี้มีตำนาน ตอนความเชื่อเรื่องตี่จู้เอี๊ยะและปุนเถ้ากง (ThaiPBS 3 ต.ค. 2560)
: ข้อมูลจากงานเสาวนาปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 13 หัวข้อ ตี้จูเอี๊ยและปุนเถ้ากง เทพผู้คุ้มครองบ้านและชุมชนจีนโพ้นทะเล โดยเว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์
: ขอขอบคุณข้อมูลจากท่านซินแส เหล่าซือ นักวิชาการ ล่ามแปลอักษร และทุกๆท่านที่เกี่ยวข้องครับ